เกี่ยวกับเรา

การเดินทางของเรา

เรามุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่เด็กในชุมชนแออัดคลองเตยให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการเรียนการสอนดนตรีและศิลปะ

 

จุดเริ่มต้นของโรงเรียน
 

มูลนิธิพู่กัน (ชื่อเดิม คลองเตยมิวสิกโปรแกรม) เป็นโครงการที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกผ่านดนตรีและศิลปะ

โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ Playing For Change (PFC) และมูลนิธิ Playing For Change (PFCF) ทีมงานของเราเริ่มต้นด้วยการจัดสอนดนตรีสัปดาห์ละครั้งให้กับเด็กด้อยโอกาสในชุมชนคลองเตย

ต่อมา PFCF ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จนในเดือนมิถุนายน ปี 2556 โครงการของเราเป็นโครงการลำดับที่ 9 ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากมูลนิธิ Playing For Change

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว 9 ปีหลังจากนั้น มูลนิธิพู่กันเปิดสอน 5 วันต่อสัปดาห์ ในวิชาดนตรีสากล ดนตรีไทย ศิลปะ และภาษาอังกฤษ ให้แก่เด็กและเยาวชน จำนวน 70 กว่าคน

ชุมชนแออัดคลองเตย

 

ด้วยประชากรนับแสนที่กระจายตัวกันอย่างหนาแน่นทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร คลองเตยคือชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื่นที่นี้เคยเป็นโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่เมื่อราวปลายพุทธศักราช 2400 และปัจจุบันได้กลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา

เด็ก ๆ ที่นี่หลายคนที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความยากลำบาก ทั้งความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มมึนเมา และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับความรักและการสนับสนุนจากครอบครัว แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่ควรจะได้เจอ

Khlong Toey - 7
Khlong Toey - 10
Khlong Toey - 11
Khlong Toey - 12
สิ่งที่ขับเคลื่อนเรา

ภารกิจของเรา

เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเด็กด้อยโอกาสในชุมชนคลองเตยด้วยการสร้างโอกาสที่จับต้องได้เพื่อการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านกิจกรรมด้านดนตรีและศิลปะ

ทีมงานของเรา

คณะกรรมการมูลนิธิ

President Paintbrush

มาย - ธนพงศ์ อุทยารัตน์

ประธานกรรมการ

Vice president paintbrush

โบ - พิมพ์สุภา ภักดี

รองประธานกรรมการ

Board member

อั้ม - ปิยวัฒน์ ศุภมิตร

ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ

ทีมงานของเรา

ทีมงาน

มายเป็นคนที่รักในศิลปะและเสียงดนตรี นอกจากนี้เขายังเป็นอาจารย์และนักจิตวิทยาการปรึกษา มายรู้สึกซาบซึ้งและชื่นชมทีมงานของมูลนิธิพู่กันเป็นอย่างมาก ที่ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อสร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัยและความเข้าอกเข้าใจให้เด็ก ๆ ได้เติบโตและเบ่งบานในแบบฉบับของตัวเอง

โบเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ เธอเข้ามาทำงานนี้จากการชักชวนของจีจี้ เธอรู้ว่าเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาสต้องการได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีอีกมาก เธออยู่ในแวดวงการศึกษามามากกว่า 10 ปี ด้วยแนวคิดที่ว่า การปลูกฝังความรู้ ความสามารถให้เด็ก ๆ ตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะทำให้พวกเขาเติบโตไปใช้ความรู้ ความสามารถนั้นในการช่วยเหลือตนเองและพัฒนาประเทศชาติได้อีกด้วย โบทำงานเป็นผู้ประสานงานให้กับมูลนิธิพู่กันมาเป็นเวลา 5 ปี ด้วยความหวังที่ว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะใช้ดนตรีเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองทั้งด้านอารมณ์ ด้านจิตใจ และด้านความสามารถ ปัจจุบันโบได้ก้าวไปสู่บทบาทใหม่ในชีวิต แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิพู่กัน

อั้มเริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ขวบ และสำเร็จการศึกษาด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สาขากีตาร์แจ๊ส ดนตรีเปรียบเหมือนศาสนาสำหรับอั้ม เป็นสื่อที่ช่วยให้จิตใจพบกับความสงบ อั้มเป็นนักดนตรีมืออาชีพและเป็นอาสาสมัครรุ่นบุกเบิกของมูลนิธิพู่กัน เขาสอนกีตาร์เป็นหลักแต่ก็สามารถสอนเบสได้อีกด้วย อั้มยังแต่งและเรียบเรียงเพลงสำหรับโครงการต่าง ๆ ของเราด้วย ปัจจุบันอั้มได้ก้าวไปสู่บทบาทใหม่ในชีวิตเช่นกัน แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิพู่กัน

จีจี้เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เธอจากบ้านที่ฝรั่งเศสมาอยู่กรุงเทพตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายอยู่ 2 ปี เมื่อได้คำตอบ จีจี้ก็ตามเสียงหัวใจของตัวเองด้วยการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นครูสอนเปียโน และใช้เวลาที่เหลือจากการทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการต่าง ๆ เป็นเวลา 6 เดือน นั่นทำให้เธอเริ่มที่จะมองหาวิธีที่จะช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยแรงบันดาลใจจากมูลนิธิ Playing For Change จีจี้รู้ตัวเลยว่าเธอต้องการที่จะสอนดนตรีให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส จีจี้จึงรวมตัวกับเพื่อน ๆ และตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิพู่กันขึ้น

เริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบ โดยมีพ่อเป็นคุณครูคนแรก ความรู้สึกตอนนั้นมองดนตรีเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของตัวเราเองมาก เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะฝึกฝนให้เก่งเหมือนศิลปินดังๆ ที่ชื่นชอบได้ ตอนนั้นมองแค่เพียงว่าฝึกเพื่อที่จะสอบแข่งขันเข้าเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยได้ ทุ่มเทเพียงเพื่อความสุขภายนอกของตัวเราแค่นั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความคิดมุมมอง ก็เปลี่ยนจากความคิดเดิมๆนั้น กลับกลายเป็นมองว่าดนตรีเป็นสิ่งสวยที่ทำให้เกิดความสุขจากภายในได้ เป็นแรงบันดาลใจ อีกทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน 

เหตุผลนี้แหละที่ตั้งใจมาสอนเด็ก ๆ ที่คลองเตย เพราะเชื่อว่าชีวิตวัยเด็กรวมถึงวัยรุ่นนั้น ควรต้องมีคนชี้แนะ นำไปทางที่ควร แต่เราจะบังคับเด็ก ๆ ไปหมดทุกสิ่งไม่ได้ เราจึงใช้ดนตรีเป็นสื่อในการชี้แนะแนวทางให้เด็ก ๆ โดยหวังว่าดนตรีนี้จะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันให้เค้ารู้จักเลือกและแยกแยะการใช้ชีวิตไปในทางที่ดีได้ตัวเอง หลังจากที่ได้มาสอนเด็ก ๆ ที่คลองเตย มันไม่ใช่เพียงแค่สอนและทำหน้าที่ครูเท่านั้น แต่น้ำได้เรียนรู้ทั้งสังคมของคนที่นี่ ได้เรียนรู้สัมผัสการทำงานที่แปลกใหม่ ที่สำคัญน้ำได้ค้นพบว่า การเป็นครูที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร นับได้ว่าการที่เป็นครูสอนเด็ก ๆ คลองเตยเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิตจริง ๆ

เอ็มเรียนศิลปะและภาษาจากมหาวิทยาลัย แต่ความสามารถทางศิลปะและอื่นๆของเขาที่ซ่อนไว้นั้นไม่ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มที่มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี (เอ็ม สามารถฆ่ายุงได้ด้วยมือข้างเดียว)

เมื่อคราวที่โลกเผชิญกับโควิด-19 ผู้คนนับล้านต้องหาทางรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป ในตอนนั้นเองที่เรากำลังมองหาเจ้าหน้าที่ธุรการ และนั่นคือตอนที่เพื่อนของเอ็มได้แนะนำเขาสู่โรงเรียนของเรา เอ็มทำงานที่มูลนิธิพู่กันตั้งแต่ปี 2563 นอกจากความสามารถทางศิลปะแล้ว เขาก็มีความสุขที่ได้อยู่กับเด็ก ๆ ทำให้เขาเข้ากับที่นี่ได้เป็นอย่างดี เอ็มได้รับความไว้วางใจจากเด็ก ๆ และครอบครัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในงานเพื่อสังคมของเรา หลังจากอยู่กับเราไม่กี่สัปดาห์ เอ็มยังรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการศิลปะและครูสอนศิลปะ และช่วยเหลือมูลนิธิในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย

ปอ ลองทำมาหลายอย่าง ทั้งเป็นแอร์โฮสเตสและทำงานบริษัท ถึงจะโตในหน้าที่การงานด้านสื่อสารองค์กร แต่ถึงจุดนึงก็รู้สึกชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ทางของตัวเอง หลังจุดเปลี่ยนในชีวิตในปี 2563 ปอลาออกจากงานและเลือกเส้นทางสาย Freelance พร้อมๆ กับโชคชะตานำพาให้ได้เข้าทำงานกับมูลนิธิพู่กัน ซึ่งเหมือนเป็นการเปิดโลกใบใหม่ในการทำงาน ที่เพื่อนร่วมงานเหมือนเป็นพี่น้อง และเด็กๆ ก็เหมือนเป็นลูกหลาน ปอรู้สึกมีความสุขและขอบคุณเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิพู่กัน

พัด เริ่มเส้นทางดนตรีโดยการทำวงดนตรีกับเพื่อนในตำแหน่งนักร้อง ได้ผ่านการแสดงและการประกวดต่าง ๆ จนได้มีโอกาสศึกษาดนตรีต่อในมหาวิทยาลัยด้านการขับร้องคลาสิก นอกจากนั้นพัดยังสนใจและมีประสบการณ์การทำงานด้านการขับร้องประสานเสียง ทฤษฎีดนตรี และการประพันธ์บทเพลง 

สำหรับพัดแล้ว ดนตรีไม่ได้เป็นเพียงแค่ทักษะความสามารถของมนุษย์ แต่ดนตรีเหมือนกับภาษาสากลที่สามารถใช้สื่อสารกับทุกคนได้ รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับของจิตวิญญาณของผู้คนให้เข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

เป็นคนจังหวัดยะลา เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 14 โดยเริ่มจากการตีกลอง แล้วได้เปลี่ยนมาเล่นเบสตอนอายุ 18 จากนั้นเริ่มจริงจังกับการเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย โดยเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา เรียนที่นั้น 2 ปีเริ่มรู้ตัวว่าชอบแจ๊ส เลยสอบเข้าใหม่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในเอกดนตรีแจ๊ส จากนั้นก็เริ่มทำงานดนตรีเป็นอาชีพตั้งย้ายมาเรียน โดยเริ่มเล่นที่ Jazz happen ตั้งแต่ปี 2010-2020 และเล่นที่โรงแรมหรือแจ๊สคลับอื่น ๆ อีกมากมาย ได้รับรางวัลชนะเลิศ Silapakorn music award (SMA) 2010 โดยใช้เพลงเร้กเก้ในการประกวด ออกทัวร์แจสคอนเสิร์ตกับทางมหาวิทยาลัยศิลปากรปี 2013 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยร่วมแสดงงานแจ๊สที่มหาวิทยาลัยมหิดล TIJC (Thailand international jazz conference) ปี 2018 ในนามวง สหมิตร บิ๊กแบนแจส โดยทำหน้าที่เป็น Jazz arranger และเล่นเบส และปี 2020 ในนามวง Crazy race band ในรูปแบบ Jazz neo-soul เคยมีประสบการณ์สอนจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยโดยปี 59-61 โดยเป็นผู้ช่วยสอนวงออร์เคสตรา วงโยธวาทิตและบิ๊กแบนแจ็สของโรงเรียน

 เนื่องจากสัญญาจากที่สอนในโรงเรียนสามเสนหมดลง ประกอบกับช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้งานทางดนตรีต้องพักชั่วคราว จึงต้องหางานด้านการสอนที่ใหม่ จึงได้พบกับทางมูลนิธิที่กำลังหาครูสอนดนตรีอยู่พอดีจึงเข้ามาสมัครสอน หลังจากได้เข้ามาสอน ได้พบว่าที่มูลนิธิแห่งนี้ ไม่เหมือนที่ไหน ๆ เด็กมีเอกลักษณ์พิเศษบางอย่างซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดี สอนที่นี่แล้วรู้สึกมีความสุขเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก มีโรงเรียนดนตรีที่อื่น ๆ ให้รายได้ดีกว่าเชิญแม๊กกี้ไปสอน แต่เขาปฏิเสธไปอย่างชัดเจนเพราะมีความสุขในการสอนที่มูลนิธิแห่งนี้อยู่แล้ว

กานต์เริ่มเรียนเปียโนคลาสสิคตอนอายุ 5 ขวบ จากโรงเรียนสอนดนตรียามาฮ่าและได้สอบเลื่อนชั้นถึงเกรด 6 หลังจากนั้นได้เข้าทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์สาขาดนตรีแจ๊ส เคยได้ไปเล่นในงานดนตรี catexpoในนามวง tsao หลังจากนั้น ได้ไปเป็น backup แตงโม the voice และตอนนี้อยู่วง Cloudy guy ค่าย Vanilla Village 

ในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ได้มีเพื่อนพาไปสอนที่โรงเรียนชนบทในจังหวัดสุโขทัย ตอนที่สอนกานต์รู้สึกมีความสุขมาก ที่ได้เห็นเด็ก ๆ ได้เรียนดนตรีกันอย่างสนุกสนาน หลังจากนั้น ผมจึงเริ่มหาที่ที่สามารถสอนเด็กที่ด้อยโอกาส ผมก็เจอที่โรงเรียนสอนดนตรีมูลนิธิพู่กัน กานต์รู้สึกดีใจมากที่ได้เห็นรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะของเด็กอีกครั้ง

Junior สอนกลองมากว่า 5 ปี ทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่และชาวต่างชาติ ในฐานะที่เป็ครู สิ่งที่ได้สัมผัสคือการได้ทำความรู้จักและเข้าใจเด็กๆ จากหลากหลายที่มา รวมถึงประเภทของเด็กๆ ที่มีระดับทักษะและพัฒนาการในการเรียนรู้ที่แตกต่าง รวมถึงทัศนคติและจิตพิสัย ซึ่งส่วนใหญ่ตามสถาบันโรงเรียนต่างๆ เด็กๆเหล่านี้จะมีพื้นฐานครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งอาจจะด้วยปัจจัยด้านเวลาและกำลังทรัพย์ของครอบครัวเอง ทำให้เด็กๆได้รับโอกาสในการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ

 

แต่วันแรกที่ได้เข้ามาในมูลนิธิพู่กันสิ่งที่เรามองเห็นทางมูลนิธิได้ดำเนินงานตลอดมา จุดประสงค์หลักคือการเห็นคุณค่าของเด็กๆ ในชุมชนและสังคมที่อาจไม่ได้มีโอกาสที่ทัดเทียมเหมือนที่อื่น โดยใช้กิจกรรมดนตรีและศิลปะในการเพิ่มพูนทักษะให้เกิดแรงบันดาลใจ สร้างสุนทรีย์ในตัวเด็กๆ และนอกเหนือจากการสอนครูในที่นี้ยังสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนในการเป็นที่ปรึกษาปัญหาและแนวทางการใช้ชีวิต รวมถึงช่วยเกลาจิตใจและทัศนคติเด็กๆให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เอื้อเฟื้อและรับผิดชอบต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคม

จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่ ประถม 4 ตอนนั้นที่เข้าไปสมัครเพราะเห็นว่าเพื่อน ๆ ไปสมัครแต่ชมรมดนตรีสากลกันหมด ไม่มีใครมาสมัครชมรมดนตรีไทยเลย จึงคิดที่จะอยากมาสมัครเพราะเห็นว่าเป็นดนตรีประจำชาติของเรา เราจึงอยากที่จะเล่นดนตรีไทยเป็น 

 

การเรียนดนตรีไทยให้อะไรกับเรามากมาย ให้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ให้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ให้รู้จักกับมิตรภาพที่ดี ๆ มากมาย แล้วหัวใจหลักที่สำคัญที่ชิมยังเล่นและสอนดนตรีไทยให้เด็ก ๆ ก็คืออยากรักษาดนตรีไทยไม่ให้หายไปจากเรา โดยที่ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับดนตรีไทยให้กับเด็ก ๆ ไว้เล่นและรักษาดนตรีไทยไว้สืบต่อไป

ครูเอก เป็นคนที่รักการศึกษาเป็นอย่างมาก จบปริญญาตรีและโทด้านการสอนมาจากสามทวีป ทำงานเป็นครูและผู้ร่วมบริหารมาหลายโรงเรียนกว่า20ปี จนถึงจุดอิ่มตัวกับการศึกษาในระบบเลยลาออก แต่ใจยังคิดถึงความสุขที่ได้จากรอยยิ้มของเด็กๆ เห็นเด็กๆมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขา

ครูเอกอาสามาทำงานสอนและประสานงานชาวไทยและชาวต่างชาติเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆคลองเตยมากว่าสองปีแล้ว และคิดเสมอว่ารอยยิ้มของเด็กๆที่นี่สดใสและน่ารักที่สุดในโลก

จบศิลปะจาก สาขาศิลปกรรมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เริ่มชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก วาดไปเรื่อย ไม่มีจุดหมายปลายทาง จนกระทั่งม.6 เทอมสุดท้าย มีประกวดวาดภาพประจำอำเภอ บังเอิญรางวัลที่1 แล้วมีเงินรางวัลด้วย จึงทำให้มีแรงผลักดัน ในการเรียนศิลปะ ฝึกวาดอย่างจริงจัง แล้วได้เข้ามาเรียนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย เปิดประสบการณ์โลกศิลปะอย่างจริงจัง ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ได้เจอมิตรภาพที่ดี แล้วศิลปะก็พาเราไปในที่ๆ เราไม่เคยไป และนอกจากศิลปะจะเป็นความสุขทางใจแล้ว ศิลปะสามารถทำเงิน สร้างอาชีพ เลี้ยงครอบครัว สร้างอนาคตได้ด้วย